วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รู้จักกับ ลมมรสุม พายุหมุน และร่องความกดอากาศต่ำ



กีฬาดำน้ำ นับเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวโยงกับธรรมชาติอย่างมาก คลื่นลมในทะเล อาจส่งผลกระทบต่อนักดำน้ำได้ หลายประการ ตั้งแต่ ฝนตกหนัก น่าเบื่อหน่าย คลื่นสูงจนดำน้ำไม่สนุก เมาเรือ ไปจนถึง ลมหรือพายุรุนแรง ที่ทำให้ต้องงดดำน้ำได้ ดังนั้น ความเข้าใจ ในสภาพภูมิอากาศ ตามธรรมชาติ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับนักดำน้ำทุกคน โดยเฉพาะ เมื่อเป็นที่รู้กันว่า ทุกวัน ตลอดทั้งปี จะต้องมีสักแห่งหนึ่งในเมืองไทย ที่คุณสามารถลงไปดำน้ำได้อย่างแน่นอน การวางแผนทริปท่องเที่ยว ในแต่ละช่วงของปี จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้แผนการท่องเที่ยวของคุณ ราบรื่น สวยงาม
เอาเป็นว่า รอบนี้ เรามาทำความรู้จักกับ สภาพภูมิอากาศ ของประเทศไทยกันก่อนดีกว่า ภูมิอากาศของประเทศไทย ได้รับอิทธิพล จากปรากฏการณ์ธรรมชาติ 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ ลมมรสุม (Monsoon), พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) และ ร่องความกดอากาศต่ำ ทั้ง 3 สิ่งนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ระหว่างดาวเคราะห์ที่ชื่อว่า "โลก" และดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า "ดวงอาทิตย์" เช่น มุมแกนหมุนของโลกกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์, อุณหภูมิพื้นผิวโลก และมหาสมุทร, ความหนาแน่นของมวลอากาศ ในแต่ละพื้นที่, อุณหภูมิของมวลอากาศนั้น ฯลฯ อีกมากมาย แต่ถ้าจะเล่าถึงต้นตอขนาดนั้น คงจะยืดยาวเกินไป เอาเฉพาะ 3 สิ่งนี้ก่อนดีกว่าครับ

ลมมรสุม (Monsoon)
ทุกคนคงจะเคยได้ยินติดหูกันมาบ้าง ในสมัยวัยเยาว์ (แต่ตอนนี้ก็ยังเยาว์อยู่เหมือนกันนะครับ) ว่าลมมรสุม คือลมประจำฤดู ของไทย เกิดขึ้นเพราะอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ระหว่างมวลอากาศในเขตพื้นดินกับพื้นน้ำ ในแต่ละฤดูกาล จึงเกิดการไหลเวียนของอากาศ ระหว่างพื้นน้ำกับพื้นดิน ลมมรสุมนี้ มีกำลังอ่อนบ้างแรงบ้าง ขึ้นอยู่กับแนวร่องความกดอากาศต่ำ
ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย ในระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนตุลาคม หอบเอาความชื้นจากทะเล มาปะทะแนวเขา เกิดเป็นฝนตกชุกในแถบภาคใต้ฝั่งอันดามัน พัดผ่านไทยขึ้นเหนือสู่ประเทศจีนต่อไป
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากแถบไซบีเรียและจีน ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พาอากาศแห้งและเย็น ลงมาปกคลุมตอนเหนือถึงตอนกลาง ของประเทศไทย แล้วหอบเอาความชื้นในอ่าวไทย ไปตกเป็นฝนในแถบภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แต่ฝนจะน้อยลงมาก ในระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)
พายุหมุนเขตร้อน หมายถึง พายุที่เกิดขึ้น เหนือมหาสมุทร ในเขตร้อน (ละติจูดต่ำ หรือ ใกล้เส้นศูนย์สูตร) เนื่องจากกระบวนการ ถ่ายเทพลังงาน ของอากาศชื้น เหนือมหาสมุทร เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักจะเคลื่อนตัวไปตามกระแสลมรอบข้าง อาจมีกำลังแรงขึ้นหรืออ่อนลง ตามแต่ลักษณะอากาศที่เคลื่อนผ่านไป แต่เมื่อเคลื่อนเข้าสู่แผ่นดิน จะอ่อนกำลังลง เพราะไม่มีพลังงานจากไอน้ำ มาเสริมกำลังต่อ
ปัจจุบัน เราแบ่งพายุหมุนเขตร้อน ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับความรุนแรง โดยวัดจากความเร็วลม ณ ศูนย์กลางพายุเป็นหลัก ดังนี้
พายุดีเปรสชั่น (Tropical Depression)มีความเร็วลมไม่เกิน 63 km/h (ประมาณ 17 m/s) มองจากดาวเทียม จะเห็นเป็นกลุ่มเมฆ หนาทึบ เป็นวงกลม ยังไม่มีแนวขดเป็นเกลียว หรือ ตาพายุ ชัดเจน
พายุโซนร้อน (Tropical Storm)มีความเร็วลมสูงกว่า ดีเปรสชั่น แต่ไม่เกิน 118 km/h (ประมาณ 32 m/s) จากภาพถ่ายดาวเทียม อาจเริ่มเห็นเกลียวแขนของกลุ่มเมฆบ้าง พายุระดับนี้ จะได้รับการกำหนดชื่อให้ โดยหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยานานาชาติ (ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ จะเริ่มตั้งชื่อพายุที่เข้ามาในเขตประเทศ ตั้งแต่ยังเป็น ดีเปรสชั่น)
พายุระดับรุนแรงที่สุดเรียกกันง่ายๆ ว่า Tropical Cyclone (เพียงเพื่อให้แตกต่างจากพายุ 2 กลุ่มแรก เท่านั้น) แต่จะมีชื่อเรียกหลากหลายชื่อ ตามแต่พื้นที่ที่เกิดพายุ เช่น ในแถบแปซิฟิค เรียกว่า ไต้ฝุ่น (Typhoon) แถบอเมริกากลาง เรียกว่า เฮอร์ริเคน (Hurricane) แถบมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า ไซโคลน (Cyclone) ส่วนในแถบมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ออสเตรเลีย เรียกว่า วิลลี่ วิลลี่ (Willi Willi) พายุระดับนี้มักจะเกิด "ตาพายุ" ขึ้นตรงใจกลาง ซึ่งเป็นบริเวณที่อากาศมีความกดน้อยที่สุด และลมในบริเวณนั้นค่อนข้างสงบนิ่ง อาจมีขนาดตาพายุตั้งแต่ 16 - 80 km เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ในแถบอื่นของโลก ซึ่งโดนพายุหมุนระดับที่รุนแรงมากกว่านี้ ยังมีการจัดระดับเพิ่มเติมอีกจนถึงระดับ Super Typhoon ซึ่งมีความเร็วลมสูงกว่า 239 km/h เลยทีเดียว นับว่าเป็นโชคดีของเรา ที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตที่โดนพายุหมุน น้อยที่สุด ในบรรดา ประเทศเขตร้อน ที่มีพายุหมุนทั้งหมดครับ
(ถ้าอ่านจากชื่อไทย และชื่ออังกฤษ อาจจะดูสับสนเล็กน้อย เพราะ Tropical ก็แปลว่า เขตร้อน แต่เราเรียกเฉพาะ Tropical Storm ว่าพายุโซนร้อน ในขณะที่ Storm แปลว่า พายุ ส่วน Depression แปลว่า ความกดอากาศต่ำ แต่เราเรียกว่า "พายุ" ทั้งคู่)
พายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย มาได้จาก 2 ทาง คือ จากอ่าวเบงกอลเข้าสู่ภาคตะวันตกของประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่มีจำนวนน้อยกว่าอีกทางหนึ่ง คือพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิค แล้วเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางตะวันออก ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่ ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงธันวาคม และแนวที่พายุเคลื่อนเข้า ก็จะสอดคล้องกับ แนวร่องความกดอากาศต่ำ ที่พาดผ่านในแต่ละช่วงเดือนนั่นเอง
ตามสถิติโดยกรมอุตุฯ เดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด (ดูที่ศูนย์กลางพายุเป็นหลัก) คือ เดือนตุลาคม รองลงมาคือ กันยายน
ร่องความกดอากาศต่ำ
เป็นคำที่ได้ยินผู้ประกาศข่าวพูดถึงอยู่เสมอ แต่หลายคนก็ยังไม่ค่อยรู้จักกับมันเท่าไหร่นัก แต่เจ้าสิ่งนี้กลับทำให้เกิดอะไรๆ กับภูมิอากาศบ้านเราได้มากมาย ขออธิบายลักษณะของมันสั้นๆ ว่า ร่องความกดอากาศต่ำ ก็คือ แนวของมวลอากาศที่มีความหนาแน่นต่ำ (มีอุณหภูมิสูง) เกิดขึ้นตามธรรมชาติของอากาศ ที่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ และมีมวลอากาศที่มีความกดสูงกว่า (ความหนาแน่นมากกว่า) กระจายอยู่รอบแนว 2 ด้าน ร่องความกดอากาศต่ำ มักจะพาดในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นหลัก (เพราะเป็นแนวที่โลกหมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบดวงอาทิตย์) อาจจะมีเฉียงเหนือหรือใต้เล็กน้อย ตามฤดูกาล และกำลังของลมอื่นๆ ที่มากระทบ เช่น ลมมรสุม เป็นต้น

เมื่อมี ร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่าน มวลอากาศความกดสูงกว่าที่อยู่รอบๆ ก็จะเคลื่อนเข้ามา พบกันในแนวนี้ เมื่อไม่มีที่ ให้พาอากาศไปไหนต่อ แต่มีปริมาณมากพอ ก็รวมตัวตกลงมาเป็นฝน นั่นเอง
นอกจากนี้ ร่องความกดอากาศต่ำ ก็จะทำหน้าที่ เป็นทางเดิน ให้กับพายุหมุนเขตร้อน ที่เกิดขึ้นทางทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย จึงพบว่าพายุหมุนส่วนใหญ่ จะเคลื่อนที่ เข้าสู่ประเทศไทย ตามแนว ร่องความกดอากาศต่ำนี้

 
ดังนั้น การเคลื่อนตัวของ ร่องความกดอากาศต่ำ ในแต่ละช่วงของปี จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้เรา คาดคะเนสภาพอากาศดีร้าย ได้ล่วงหน้าระดับหนึ่ง และสามารถวางแผน เลือกสถานที่ท่องเที่ยว ได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ปกติ ร่องความกดอากาศต่ำ จะพาดผ่านประเทศไทย ตั้งแต่ เดือนเมษายน ถึง เดือนธันวาคม แต่จะส่งผล ให้เกิดฝนตกชุกจริง ก็ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคม เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ เคลื่อนมาถึงตอนกลาง ของประเทศ และเมื่อถึงเดือนมิถุนายน ก็ไปพาดเอา แถวตอนเหนือ ของประเทศไทย แล้วหายไปอยู่ ทางตอนเหนือสุด ของเวียดนาม และทางใต้ของจีนพักหนึ่ง ราวเดือนกรกฎาคม ก่อนจะเริ่มเคลื่อน กลับเข้าสู่ ประเทศไทยอีกครั้ง ในระหว่างเดือน สิงหาคม ถึง ธันวาคม ไล่ลงจากเหนือมาใต้ ตามลำดับ

 
พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทย มีฝนตกชุก ในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง ตุลาคม โดยทิ้งช่วงไปพักหนึ่ง ราวเดือนกรกฎาคม และกลับมาตกชุก จนถึงตกหนัก อีกครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นไป แต่คราวนี้ หากมีพายุหมุนเขตร้อน เฉียดเข้ามาใกล้ หรือเคลื่อนเข้ามาด้วย ก็จะทำให้มีฝนตกหนัก ถึงหนักมาก หรือเกิดความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

 
นอกจาก 3 สิ่งนี้แล้ว ก็ยังมีช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน ที่ลมตะเภา หรือลมว่าว ซึ่งพัดมาจากทิศใต้ หรือตะวันออกเฉียงใต้ อาจปะทะเข้ากับ มวลอากาศเย็น จากประเทศจีน ที่บังเอิญหลงทางมา ในบางโอกาส ทำให้เกิดเป็น "พายุฤดูร้อน" มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง หรือมีลูกเห็บตกลงมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น ทางตอนเหนือของประเทศ

สรุปย่อช่วยจำ
ร่องความกดอากาศต่ำ เป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยคาดคะเนพื้นที่ ที่จะเกิดฝนตกชุก ในแต่ละเดือน จำง่ายๆ โดยเริ่มไล่จาก เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน จากใต้สุดไปเหนือสุด แล้วไล่กลับลงมาอีกครั้ง จากเดือนสิงหาคม ถึงธันวาคม จากเหนือสุดมาใต้สุด ส่วนว่า จะไปเที่ยวที่ไหน ได้บ้างนั้น ต้องลองเปิด แผนที่ประเทศไทย ประกอบด้วยแล้วล่ะ
สำหรับ ลมมรสุม คงจะจำกันได้ไม่ยากเพราะ เรียนกันมาแต่เด็กแล้ว หรือไม่ ก็ลองย้อนกลับไปอ่าน ด้านบนอีกรอบนะครับ

จากข้อมูลเหล่านี้ น่าจะช่วยให้ทุกท่าน สามารถวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวล่วงหน้า ในแต่ละเดือนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความถึง ทริปดำน้ำ เท่านั้นนะครับ แต่หมายรวมถึง ทุกการเดินทาง ในทุกสถานที่ท่องเที่ยว ที่คุณเลือกเป็นจุดหมายปลายทาง สำหรับวันหยุดพักผ่อน เพื่อความสุขสนุกสนานของผู้ร่วมทริปทุกคน

ภาพและข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สาระวิทยาศาสตร์ทางทะเล, พ.ศ. 2546
Wikipedia: Tropical cyclone
เขียนโดยศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล
http://www.easydivers.info/index.php?lay=show&ac=article&Id=5350930&Ntype=54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น