วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม

       ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถาบันราชการ และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ ในแต่ละบริเวณที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ 
     (๑) โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชี ท้ายกฎกระทรวงนี้ โดยมีพื้นที่ ที่ใช้ประกอบการไม่เกิน ๑๐๐ ตารางเมตร และไม่ก่อเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข หรือไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือ สิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสม เฉพาะในบริเวณพื้นที่ทำการก่อสร้างตามเงื่อนไขและวิธีการที่กรุงเทพมหานครกำหนดโรงงานในลำดับที่ ๑๔ ลำดับที่ ๓๔ และลำดับที่ ๙๕ ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้ ต้องเป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมไม่เกิน ๒๐ แรงม้า หรือใช้คนงานไม่เกิน ๒๐ คนด้วย
     (๒) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และห้องบรรจุก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว แต่ไม่หมายความรวมถึงสถานีบริการ ร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซ และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ
     (๓) สถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับจำหน่ายขายที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง เว้นแต่เป็นสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
     (๔) เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดเพื่อการค้า
     (๕) สุสานและฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่เป็นการก่อสร้างแทนฌาปนสถานที่มีอยู่เดิม
     (๖) ไซโลเก็บผลิตผลทางการเกษตร
     (๗) กำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เว้นแต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจากกรุงเทพมหานคร
     (๘) ซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ การใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณหมายเลข ๔.๕๕ เพื่อประกอบพาณิชยกรรม ให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทนี้ริมฝั่งคลอง ให้มีที่ว่างตามแนวขนานริมฝั่งคลองไม่น้อยกว่า ๓ เมตร เว้นแต่เป็นการก่อสร้างเพื่อการคมนาคมทางน้ำ การสาธารณูปโภค เขื่อน รั้วหรือกำแพง

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเภทโฉนดที่ดิน

โฉนดที่ดินในประเทศไทยมีหลายประเภททั้งที่สามารถซื้อขายได้ และซื้อขายไม่ได้ มีทั้งแบบโอนกรรมสิทธิ์ได้ และเป็นเพียงหนังสือแสดงสิทธิ์การทำกิน หรือทำประโยชน์ในที่นั้นซึ่งไม่ใช่กรรมสิทธ์ในที่ดินนั้น

สามารถแบ่งเอกสารสิทธิ์ออกเป็นดังต่อไปนี้

1.หนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดิน มี 4 แบบได้แก่

  • 1.1 โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4 เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินสามารถใช้แสดงความเป็นเจ้าของที่ดินนั้น สามารถขายหรือโอน จำนอง ค้ำประกันทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มิฉะนั้นจะถือ เป็นโมฆะมีหลายแบบได้แก่ น.ส. 4 ก, น.ส. 4 ข, น.ส. 4 ค, น.ส. 4, น.ส. 4 ง และน.ส. 4 จ เป็นโฉนดที่ออกให้ในปัจจุบัน
  • 1.2 ใบจอง หรือ น.ส.2 หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทางราชการออกให้จะนำไปขาย โอนไม่ได้ จำนองไม่ได้ เว้นแต่การโอนทางมรดกตกทอดแก่ทายาทเท่านั้น
     
  • 1.3 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือน.ส.3 หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วมีเพียงสิทธิ์ครอบครอง ไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถซื้อขายโอน จำนองได้ ได้แก่ น.ส.3 หลายคนมีปัญหาเรื่องรังวัดด้วยฝีมือคนโดยไม่ได้อ้างอิงแผนที่จากดาวเทียม ส่วนนส.3 ก จะปลอดภัยกว่า แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการรังวัดใหม่ว่า ที่ดินเราจะเพิ่มหรือลดได้ทั้งนั้น
     
  • 1.4 ใบไต่สวน หรือ น.ส.5 หนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน หนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดินและให้จดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมในใบไต่สวนได้

2.เอกสารสิทธิ์ที่ราชการออกให้ มี 5 แบบได้แก่

  • 2.1. ภ.บ.ท. 5 เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ซื้อขายไม่ได้ ถ้าซื้อต้องยอมรับสภาพได้ถ้าจะสูญไปเอาไปอ้างในศาลไม่ได้ว่าคุณเป็นเจ้าของที่นั้นๆโดนโกงกันมาก ถ้ามีนักเลงมายึดที่ทำได้ง่ายมาก เพราะไม่ใช่โฉนดไม่ใช่เอกสารอะไรเกี่ยวกับที่ดินแต่คนก็ซื้อขายกันอย่างมาก เช่นที่วังน้ำเขียวที่มีปัญหากันมาก
  • 2.2. ก.ส.น.5 เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ออกโดยนิคมสหกรณ์ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
  • 2.3. น.ค. 3 เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ออกโดยนิคมสร้างตนเอง จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
  • 2.4. ส.ท.ก. เป็นหนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นผู้ออกให้
  • 2.5. ส.ป.ก เป็นสิทธิในการทำเกษตรกรรม รวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น

    **ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นแค่เป็นสิทธิ์ครอบครองที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทำเกษตรกรรมจึงซื้อขายโอนไม่ได้นอกจากตกทอดแก่ทายาทใช้ทำเกษตรกรรมต่อไป ห้ามซื้อขายออกโฉนดไม่ได้ โอนกรรมสิทธิ์ให้คนอื่นไม่ได้ นอกจากทายาท

3.เอกสารสิทธิ์ประเภทที่ราษฎรทำขึ้นเอง หรือ ส.ค.1

ส.ค.1 แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ผู้ที่ครอบครอง และทำประโยชน์อยู่ในที่ดินก่อน 1 ธ.ค.2497 ไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน เพียงสิทธิครอบครอง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไม่ได้

ดังนั้น ในการซื้อที่ดินโปรดระมัดระวังเรื่องเอกสารสิทธิ์ต้องเป็นโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4 ที่เป็นกรรมสิทธิ์เท่านั้นที่สามารถซื้อขาย โอนให้ผู้อื่นได้นอกนั้นเป็นสิทธิ์ครอบครองเพื่อทำประโยชน์ไม่สามารถซื้อขายหรือ โอนได้สามารถตกทอดเป็นมรดกได้เท่านั้น เว้นแต่โอนโดยการส่งมอบการครอบครอง ยอมให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์ในสิทธิครอบครองที่ดินของตน แต่ผู้รับ รับมอบ หรือรับจำนองจะต้องเสี่ยงภัยเอาเองเพราะไม่ใช่กรรมสิทธ์ เมื่อมีผู้มาแย่งสิทธิครอบครอง หรือเจ้าของ หรือญาติของเจ้าของมายึดไป ทางที่ดินซื้อที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์จะปลอดภัยกว่าไม่ต้องกังวล เมื่อเกิดปัญหาในภายหลัง