วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลกกลางปี 2556

                     
 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลก ในปี 2556 (Worldwide Symposium on Geographical Indication 2013) ที่กรุงเทพมหานคร

           ไทยจะร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ World Intellectual Property Organization (WIPO) กว่า 180 ประเทศ จัดการประชุมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลก ในปี 2556 โดยจะเชิญผู้แทนจากประเทศสมาชิกของ WIPO ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เรื่องการคุ้มครอง และการใช้ประโยชน์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งงานดังกล่าวจะช่วยเผยแพร่ศักยภาพด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และยังเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทย ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศด้านการท่องเที่ยว และความพร้อมในการจัดงานในระดับระหว่างประเทศอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจาก ทั่วโลกกว่า 300 คน ซึ่งนอกจากจะมีการประชุมสัมมนาวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่แหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ทำให้สินค้านั้นมีคุณภาพหรือคุณลักษณะพิเศษ แตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่น เป็นการยืนยันและรับประกันคุณภาพของสินค้า ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ภายในงานยังจะมีการจัด การแสดงนิทรรศการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากทั่วโลกกว่าอีก 50 บูธ

            งานประชุมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลกจะจัดขึ้น 3 วัน โดย 2 วันแรกจะเป็นการประชุมสัมมนาวิชาการ และแสดงนิทรรศการ ส่วนวันที่ 3 จะพาผู้เข้าร่วมประชุมลงพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อดูงานกระบวนการผลิตสินค้า GI ของไทย เช่น จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีสินค้า GI ที่น่าสนใจ เช่น ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม เป็นต้น

             ขณะนี้ไทยมีการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว 35 รายการ เช่น กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ มะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นต้น และอยู่ระหว่างยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในต่างประเทศ 3 รายการ คือ ข้าวหอมมะลิทุ้งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้างในสหภาพยุโรป สร้างมูลค่าและนำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555 – 2559) ที่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ เน้นการใช้ปัญญา ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์แม่บทและนโยบายกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2555 – 2564 ที่เน้นความสำคัญ เรื่องการยกระดับประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น